วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ต้มยำ


ต้มยำ
ต้มยำเป็นอาหารพื้นเมืองที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะคนไทยกินกันทุกภาค เป็นอาหารที่ชาวต่างชาตินิยมสั่งกันอยู่ไม่น้อย หนึ่งในเมนูต้มยำที่ดังกระฉ่อนระดับโลก คือต้มยำกุ้ง ต้มยำเป็นอาหารที่ครบรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวานเล็กน้อย ทำให้ไม่เลี่ยน ไม่ฝืดคอเวลากิน ต้มยำประกอบไปด้วย สมุนไพร หลากหลาย ซึ่งดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะนาว หรือ บางเมนู อาจจะมีใบกะเพรา ผักชีฝรั่งและโหระพาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมี เห็ด ต่างๆรวมทั้ง มะเขือเทศ ผักชี ต้มยำปรุงจากเนื้อสัตว์ ต่างๆได้มากมาย ทั้ง หมู ไก่ ปลา กุ้ง หรือเนื้อวัว ฯลฯ ต้มยำพอจะแบ่ง ออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

1.ต้มยำน้ำใส ต้มยำน้ำใสนั้นถือได้ว่าเป็นต้นตำรับของต้มยำ เพราะอาหารไทยในอดีตนั้นมักจะไม่ใส่นมหรือกะทิและมักจะปรุงกันอย่างง่ายๆ ไม่มีเครื่องปรุง อะไรมากมายนัก ถ้าเป็นทางภาคอีสานก็จะต้องเป็นต้มแซบที่ใส่พริกแห้ง และข้าวคั่วลงไปในหม้อต้มนั้นด้วย โดยต้มยำน้ำใสจะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ เนื้อสัตว์ เช่น กบ ปลาช่อน ไก่บ้าน ฯลฯ และจะมีเครื่องเทศหลักๆ คือ ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก ทั้งสดและแห้ง ข่า เป็นต้น ซึ่งส่วนประกอบที่ได้มานั้นเป็นทั้งเครื่องเทศที่ช่วยในการชูรส ชูกลิ่นของอาหาร อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย

2. ต้มยำน้ำข้น ต้มยำที่หลายคนเคยชินกันดี และยังเป็นต้มยำที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับอาหารไทยโด่งดังไปทั่วโลก หลายคนอาจจะคิดว่า ต้มยำกุ้งน้ำข้นคือต้มยำแบบไทยแท้ แต่แท้จริงแล้วจากประวัติต้มยำกุ้ง ที่เปลี่ยนมาใส่นมกินอย่างน้ำข้นนั้น เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงที่ท่านเสด็จประพาสไปเสวยเหลาแถวสามย่าน สมัยนั้นมีเสหลาของคนจีนเข้ามาใหม่ร้านหนึ่ง เหลาแห่งนั้นทำต้มยำกุ้งใส่นมเป็นน้ำข้น ใครรุ่นนั้นที่ไฮโซก็ต้องไปกินเหลาร้านนี้ก็จะติดภาพต้มยำกุ้งของไทยต้องใส่นม จริงๆ ไม่ใช่ต้มยำกุ้งดั้งเดิม จริงๆ จะเป็นแบบน้ำใส และคงเป็นเพราะนมหรือกะทิที่มีการใส่ลงไปในต้มยำ จนทำให้ต้มยำน้ำข้นนั้นคล้ายคลึงกับซุปของชาวต่างชาติที่นิยมใส่นม หรือใส่ครีมลงไป จึงทำให้ต้มยำกุ้งน้ำข้นของไทยเราโด่งดังไปทั่วโลก

ขนมจีนเพื่อความอิ่ม

ขนมจีน

         คำว่า "ขนมจีน" ไม่ใช่อาหารจีน แต่คำว่า "จีน" ที่ต่อท้ายขนมนี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากมอญซึ่งเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" หมายถึง "สุก 2 ครั้ง" พิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่า " จริง ๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ คนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน คนอม หมายความว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จินแปลว่าทำให้สุกนอกจากนี้ "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังกร่อนเป็น "ขนม" จริง ๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมจึงมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือ หนม ในภาษาเขมร หรือ คนอม ในภาษามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ดังนั้นขนมจีน จึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน ซึ่งทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล จนเป็นอาหารที่ทำง่ายและมีความนิยมสูง สามารถหาทานได้ทั่วไป

ขนมจีนภาคกลาง


เส้นขนมจีนของภาคกลางที่มีชื่อเสียงคือขนมจีนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา และขนมจีนปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นขนมจีนเส้นเล็กเหนียว จับขนาดเล็ก ส่วนขนมจีนหล่มสักและหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์เป็นขนมจีนแป้งสดที่มีชื่อเสียง ขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ 
[1]นิยมกินกับน้ำพริก น้ำยาและแกงเผ็ดชนิดต่างๆ น้ำยาของภาคกลาง นิยมกินกับน้ำยากะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริกเป็นขนมจีนแบบชาววัง ปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสง กินกับเครื่องเคียงทั้งผักสด ผักลวก และผักชุบแป้งทอด ขนมจีนซาวน้ำ เป็นขนมจีนที่นิยมในช่วงสงกรานต์ กินกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ทางสมุทรสงครามและเพชรบุรีจะปรุงรสหวานด้วยน้ำตาลมะพร้าว
  • นครปฐม กินขนมจีนกับแกงป่าน้ำใสที่ใส่พริกขี้หนูกับเม็ดพริกไทยอ่อน ถ้าเป็นแกงปลาจะเพิ่มกระชาย ใบกะเพรา และใบยี่หร่า กินคู่กับตีนไก่ตุ๋นและไหลบัวลวก
  • ขนมจีนชาววังชนิดหนึ่ง เรียกขนมจีนครามแดง กินกับกุ้งย่าง แตงกวาฝาน ขิงซอย สะระแหน่ ราดน้ำยำจากน้ำพริกเผา อีกชนิดหนึ่งเรียกขนมจีนชิดลม กินกับไก่ต้มกะทิ ราดด้วยน้ำพริกเผาผสมมะนาว


ขนมจีนภาคเหนือ

เรียกขนมจีนว่า ขนมเส้นหรือข้าวเส้น นิยมขนมจีนน้ำเงี้ยวที่มีดอกงิ้วเป็นองค์ประกอบสำคัญ กินกับแคบหมูเป็นเครื่องเคียง 
                                                                                                                  ขนมจีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เรียกขนมจีนว่า ข้าวปุ้น อีสานใต้เรียกว่า นมปั่นเจ๊าะ คล้ายกับกัมพูชา นิยมกินกับน้ำยาใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่กินขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และนำขนมจีนมาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมขนมจีนแป้งหมัก ขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ 
  • นครราชสีมา มีน้ำยาไก่ที่คล้ายแกงเผ็ดไก่ของทางภาคกลาง แต่ไม่ใส่มะเขือและใบโหระพา ใส่เครื่องในไก่ เลือดไก่และตีนไก่แทน
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเส้นขนมจีนที่เป็นเอกลักษณ์ 2 แบบคือ
  • ด้องแด้ง เป็นเส้นขนมจีนที่เกิดจากการกดแป้งขนมจีนผ่านพิมพ์ที่รูกว้างกว่าปกติ ทำให้ได้เส้นขนมจีนขนาดใหญ่ อ้วนกลม นิยมนำมาใส่ในส้มตำ ต้นตำรับมาจากอำเภอปากชม จังหวัดเลย
  • ไข่โอก เป็นขนมจีนแบบโบราณ เกิดจากการกดแป้งขนมจีนให้เป็นเม็ดกลมสั้น นิยมขายคู่กับด้องแด้ง ใช้ใส่ส้มตำ


ขนมจีนภาคใต้

เรียกขนมจีนว่า โหน้มจีน โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต กินกับผักเหนาะชนิดต่างๆ ทางภูเก็ตกินกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมกินขนมจีนเป็นอาหารเย็น กินกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราชกินเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ากินคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลาขนมจีนเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ 
  • ภูเก็ต มีขนมจีนน้ำยาปู คล้ายน้ำยาปลาแต่ใช้เนื้อปูม้าแทนเนื้อปลา และยังกินขนมจีนกับน้ำชุบหยำหรือน้ำพริกที่ปรุงด้วยการขยำเครื่องปรุงเข้าด้วยกัน ไม่ได้โขลกให้เข้ากันในครก
  • พังงา กินกับแกงไตปลาที่รสเผ็ดน้อย ปรุงรสเปรี้ยวด้วยสับปะรดและส้มแขก
  • ชุมพร กินกับแกงไตปลาหรือแกงขี้ปลาที่ใส่ข่า กระชาย หอม กระเทียมที่ซอยละเอียด ไม่ได้นำไปโขลกกับน้ำพริกแกง มีสีเหลืองจากขมิ้นชัน


ขนมจีนนานาชาติ

  • เวียดนามมีเส้นคล้ายขนมจีนเรียกบุ๋น นิยมกินกับน้ำซุปหมูและเนื้อ ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเว้ เรียก บุ๋นบ่อเหว 
  • ลาวเรียกขนมจีนว่าข้าวปุ้น นิยมกินกับน้ำยาปลาหรือน้ำยาเป็ด ทางหลวงพระบางกินกับน้ำยาผสมเลือดหมูเรียกน้ำแจ๋ว
  • กัมพูชาเรียกขนมจีนว่า นมปันเจ๊าะ นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า 
  • พม่ามีอาหารประจำชาติเรียกหม่อนี่งา ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาปลาของไทยแต่ใส่หยวกกล้วยไม่มีกะทิและกระชาย


การรับประทาน

เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่นน้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก แกงกะทิต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้นใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลา นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น เครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่นๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค

ผักที่รับประทานคู่กับขนมจีน

ผักที่รับประทานกับขนมจีนแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน ดังนี้ 

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ขนมจีน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. แสงแดด. 2552
  2. ^ ส้มตำเป็นอาชีพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. แสงแดด. 2552. หน้า 52 และ 86
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 อาหารเส้นนานาชาติ. กทม. แสงแดด. 2550
  4. ^ ขนมจีน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. แสงแดด. 2552